ผู้เขียน หัวข้อ: เช็กอาการ และ สัญญาณเตือน คุณเสี่ยงโรคหัวใจแบบไหน?  (อ่าน 7 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 189
    • ดูรายละเอียด
เช็กอาการ และ สัญญาณเตือน คุณเสี่ยงโรคหัวใจแบบไหน?
« เมื่อ: วันที่ 18 พฤศจิกายน 2024, 15:54:03 น. »
เช็กอาการ และ สัญญาณเตือน คุณเสี่ยงโรคหัวใจแบบไหน?

    โรคหัวใจ มีหลายประเภท  ซึ่งอาการและวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน  สำหรับบางคน การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และการใช้ยา ก็สามารถช่วยให้สุขภาพหัวใจดีขึ้นได้ แต่ในบางคนอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้หัวใจกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกครั้ง
    ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ อายุ ที่เพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนอายุ 30-40 ปี  โดยเพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง และที่สำคัญคือพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงมากกว่าคนทั่วไป     
    การรักษาโรคหัวใจ จะรักษาตามสาเหตุและอาการที่ตรวจพบ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รักษาโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะควบคุมได้ รับประทานยา หรือ การผ่าตัดรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ


โรคหัวใจ (Heart Disease) คืออะไร

โรคหัวใจ (Heart Disease) คือโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยเกิดขึ้นในส่วนของหัวใจที่ต่างกัน จึงทำให้โรคหัวใจแต่ละชนิด มีอาการแตกต่างกัน   

โรคหัวใจมีหลายประเภท และแต่ละประเภทมีอาการและวิธีรักษาที่แตกต่างกัน สำหรับบางคน การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ หรือการดำเนินชีวิตและการใช้ยา ก็สามารถช่วยให้สุขภาพหัวใจดีขึ้น แต่ในบางคนอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานอีกครั้ง

โรคหัวใจมีกี่ประเภท

เมื่อพูดถึงโรคหัวใจ หลายคนมักคิดถึง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคหัวใจ และเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิต โรคหัวใจแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มโรค ดังนี้

1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease : CAD)

โรคหลอดเลือดหัวใจ Coronary Artery Disease (CAD) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

    โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดเฉียบพลัน 
    จะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกช่วงกึ่งกลางหน้าอก โดยจะเจ็บถี่ขึ้น อาการมักเป็นรุนแรง และเกิดได้มากขึ้น แม้ไม่ใช่ขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา นอกจากนี้อาจมีอาการใจสั่น หรือเหงื่อแตก หากไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) และเสียชีวิตได้ ดังนั้น ต้องรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมถึงการสูบบุหรี่จัด 
    โรคหลอดเลือดหัวใจชนิดเรื้อรัง 
    พบอาการแน่นบริเวณกึ่งกลางอกแบบเป็นๆ หายๆ อาจมีอาการแน่นหน้าอกร้าวไปกรามหรือหัวไหล่ซ้าย โดยมักเกิดขณะใช้กำลัง เช่น ออกกำลังกาย เดินเร็ว หรือการขึ้นบันได เมื่อได้นั่งพักอาการก็จะหายไป หรืออาจมาด้วยอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง


2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia)

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) อัตราการเต้นของหัวใจสำหรับคนปกติอยู่ที่ 60 - 100 ครั้งต่อวินาที กรณีหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบ่งความผิดปกติออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตัน สาเหตุสำคัญของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ คือความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด และหลอดเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้ยังเกิดจากสุขภาพร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โดยมีอาการใจสั่นรวมทั้งหน้ามืดเป็นลม ซึ่งควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

    หัวใจเต้นช้าผิดปกติ คือน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
    หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คือเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที
    หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่น เต้น ๆ หยุด ๆ หรือเต้นเร็วสลับช้า


3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ   

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

    โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Cardiomyopathy) เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ สาเหตุที่พบบ่อย มาจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ความสามารถในการบีบตัวลดลงหรืออาจมาจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาจากพันธุกรรม รวมทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันในห้องหัวใจสูงขึ้นทำให้ห้องหัวใจโต  ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน  ขาบวม เหนื่อย นอนราบไม่ได้หรือมาพบแพทย์ด้วยภาวะน้ำท่วมปอด
    โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวลดลง และการนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ  อาการที่สังเกตได้คือ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ขาบวม ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว   


4. โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease)

โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

    โรคลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis)   เป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจเปิดและปิดได้ไม่สุด  เลือดจึงออกจากห้องหัวใจยากขึ้น ทำให้เกิดความดันและปริมาณเลือดสะสมย้อนกลับไปสู่ห้องหัวใจและหลอดเลือด
    โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Regurgitation)  ซึ่งเป็นภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่วหรือขาด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือดในหัวใจลดลงและหัวใจทำงานหนักขึ้น


สาเหตุความผิดปกติของลิ้นหัวใจ แบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

    ความพิการของลิ้นหัวใจแต่กําเนิด (Congenital Valve Disease) เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ซึ่งมีอาการตั้งแต่แรกคลอดและจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
    โรคลิ้นหัวใจผิดปกติจากการเสื่อมสภาพ (Degenerative Valve Disease) ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ เนื่องจากเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ
    โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective Endocarditis) เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) และเชื้อโรคไปเกาะกินที่ลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลันและหัวใจวายรุนแรง รวดเร็ว อาการที่สังเกตได้ คือ เหนื่อยเร็วกว่าปกติ  หากพบมีภาวะบวม เหนื่อยมาก ไม่สามารถนอนราบ หายใจลําบาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา   

5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) 
ความผิดปกติของการพัฒนาโครงสร้างหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงมารดาได้รับยาบางอย่างในช่วงก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้การสูบบุหรี่  ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด ก็มีส่วนทำให้ทารกเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้  โดยทารกตรวจพบอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ดื่มนมน้อย โตช้า เล็บสีม่วงคล้ำ อ่อนเพลีย และเหงื่อออกมาก 


สาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหัวใจแต่ละชนิดมีสาเหตุต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกัน แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้

    ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
        อายุ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุ 40 ปี แต่ในปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนอายุ 30-40 ปี การมีอายุมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
        เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิง แต่สำหรับผู้หญิงจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังหมดประจำเดือน
        พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย โดยผู้ชายก่อนอายุ 55 ปี และผู้หญิงก่อนอายุ 65 ปี
    ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้
        ระดับไขมันในเลือดสูง หากมีระดับไขมันในเลือดยิ่งสูงก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการรับประทานอาหาร โดยเลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ   
        โรคเบาหวาน  ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจเป็นสาเหตุของการทำลายผนังภายในของหลอดเลือดได้
        ความดันโลหิตสูง สามารถกระตุ้นให้กระบวนการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดเกิดได้เร็วขึ้น รวมถึงยังทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น 
        การสูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบอย่างมาก และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหัน
        ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  หากในชีวิตประจำวันไม่มีการขยับร่างกายอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
         

สัญญาณเตือน โรคหัวใจอาการเป็นอย่างไร

สามารถสังเกตสัญญาณเตือนโรคหัวใจ ดังนี้

    เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก อาจร้าวไปที่กราม แขน ไหล่
    เหนื่อยง่าย
    ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม
    นอนราบไม่ได้ ขาบวมทั้งสองข้าง

แม้โรคหัวใจบางประเภทจะสามารถควบคุมรักษาให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตได้ตามปกติ แต่โรคหัวใจบางประเภทอาจส่งผลถึงชีวิต ดังนั้นการดูแลสุขภาพหัวใจจึงมีความจำเป็น นอกจากการดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง การตรวจหัวใจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดี ที่จะ

ช่วยประเมินสุขภาพความแข็งแรงของหัวใจ รวมถึงตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจ  ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหัวใจมักมีอาการหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ในบางคนอาจไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ เกิดขึ้นเลย ดังนั้นการเข้ารับการตรวจโรคหัวใจจะช่วยคัดกรองความเสี่ยง ก่อนเกิดโรค


ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจโรคหัวใจ

    ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
    ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดสมอง
    ผู้มีโรคประจำตัว หรือ ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง  โรคอ้วน สูบบุหรี่
    พบอาการหรือสัญญาณเตือน เช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายผิดปกติ ใจสั่น หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องใช้กำลังในการแข่งขัน เพื่อประเมินอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม

หากพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคหัวใจให้เร็วที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่ามีปัญหาโรคหัวใจหรือไม่ และวางแผนการรักษาต่อไป


การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้นเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยละเอียด นอกจากนี้แพทย์อาจให้ตรวจเพิ่มเติม รวมถึงทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยวิธีต่างๆ   ดังนี้

    ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram - EKG)  การตรวจการทำงานของคลื่นกระแสไฟฟ้าบริเวณหัวใจ ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ
    ตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน  (Exercise Stress Test - EST) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อประเมินสมรรถภาพของหัวใจขณะออกแรงอย่างหนัก สามารถคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เบื้องต้น และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการตรวจที่ให้ผลที่ละเอียดกว่าการตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพียงอย่างเดียว 
    ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram - Echo) ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อจับภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ รวมถึงการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ  การไหลเวียนเลือดในหัวใจ
    ตรวจหัวใจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  (Coronary CT Angiography - CT Scan) เป็นวิธีการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ   รวมถึงใช้เพื่อติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ
    การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Angiography - CAG) คือการใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงบริเวณแขนหรือขาหนีบ และฉีดสารทึบรังสี เข้าไปดูภาวะหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน รวมทั้งการฉีดสารทึบรังสีในห้องหัวใจเพื่อตรวจสอบความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ ความดันของห้องหัวใจ และการรั่วของลิ้นหัวใจ 
     

การรักษาโรคหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจเป็นไปตามสาเหตุและอาการที่ตรวจพบ  ดังนี้

    ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตจะช่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ได้แก่ รับประทานอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ 
    รักษาโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะควบคุมได้ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
    รับประทานยารักษาโรคหัวใจ ตามความเหมาะสมของแต่ละโรค   
    การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจ ตามแต่ละชนิดของโรคหัวใจ

โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ดังนั้นหากพบอาการหรือสัญญาณเตือนไม่ควรนิ่งนอนใจ  ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เพื่อหาสาเหตุและประเภทของโรคหัวใจ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ผู้มีความเสี่ยงสามารถเข้าตรวจคัดกรองแม้ไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนใดๆ