ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (Temporal arteritis/Giant ce  (อ่าน 27 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 188
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (Temporal arteritis/Giant cell arteritis)

หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (temporal arteritis) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ "หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่อักเสบ (giant cell arteritis)" หมายถึงการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งมักเกิดกับหลอดเลือดแดงที่บริเวณคอและศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดงที่บริเวณขมับ (temporal artery) จึงนิยมเรียกว่า "หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ"

หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ เป็นโรคที่รุนแรงถึงทำให้ตาบอดได้ นับว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน

โรคนี้พบได้ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 50 ปี พบมากในช่วงอายุ 65-75 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า

ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อแม่หรือญาติพี่น้อง) เป็นโรคนี้ หรือผู้ที่มี "กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลายส่วน" (polymyalgia rheumatic)* มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

*มีอาการปวดและตึงกล้ามเนื้อพร้อมกันหลายส่วนของร่างกาย เนื่องจากเกิดการอักเสบของข้อต่อกระดูกตรงบริเวณคอ ไหล่ ต้นแขน และสะโพก อันเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเองโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคที่พบได้น้อย และพบในคนอายุมากกว่า 50 ปี "กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลายส่วน" กับโรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบมักพบร่วมกันได้บ่อย

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเอง (autoimmune reaction) กล่าวคือ ร่างกายเกิดมีภูมิคุ้มกันที่ไปทำปฏิกิริยาต่อผนังหลอดเลือดของตัวเอง ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอักเสบ บวม ท่อหลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้น้อยลง

แม้ว่าโรคนี้จะมีอาการแสดงชัดเจนปรากฏที่บริเวณขมับเนื่องมาจากหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ แต่การอักเสบเกิดกับหลอดเลือดแดงขนาดกลางและใหญ่ได้ทุกส่วน ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายร่วมกับอาการปวดและเจ็บบริเวณขมับ

ปฏิกิริยาภูมิต้านตัวเองดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การติดเชื้อ)

อาการ

มีอาการปวดศีรษะที่บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว หรือบางรายอาจเกิดพร้อมกันทั้งสองข้าง อาการปวดมักเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรง หรืออาจค่อย ๆ ปวดแรงขึ้นทีละน้อย มีลักษณะปวดตุบ หรือปวดหน่วง ๆ หรือปวดแสบปวดร้อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเป็นการปวดศีรษะที่รุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมักจะปวดมากจนทำให้นอนสะดุ้งตื่นหรือนอนไม่หลับ

มักจะสังเกตเห็นว่า บริเวณขมับข้างที่ปวดมีเส้นปูดขึ้น เวลาเอามือไปกดถูกจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งเป็นอาการแสดงของหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ

ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดเจ็บหนังศีรษะเวลาหวีผม สวมหมวก สวมแว่นตา หรือนอนหนุนหมอน และอาจมีอาการปวดเมื่อยกรามเวลาเคี้ยวของที่เหนียว ๆ (เช่น เนื้อสัตว์ หมากฝรั่ง) หรือพูดนาน ๆ เนื่องมาจากหลอดเลือดแดงขากรรไกรอักเสบและตีบ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ขาดเลือดไปเลี้ยง

อาการปวดศีรษะมักจะเป็นรุนแรง เรื้อรังไม่หาย หรืออาจทุเลาเพียงชั่วคราว แล้วกลับมากำเริบใหม่

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดไหล่ คอ ต้นแขน ปวดสะโพก ซึ่งเป็นอาการของ "กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อหลายส่วน" (polymyalgia rheumatic) ร่วมด้วย

ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำ ๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีอาการเหล่านี้โดยไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยก็ได้

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น มีอาการปวดร้าวไปที่ตา ตาพร่ามัว หนังตาตก เห็นภาพซ้อน (เนื่องจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนแรงเพราะขาดเลือด) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลิ้นชา หรือปวดเมื่อย ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหู หูตึงหรือได้ยินไม่ชัด หูอื้อหรือมีเสียงในหู เป็นต้น

หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา บางรายอาจมีอาการตามืดบอด (มองไม่เห็นอย่างเฉียบพลัน แบบบางส่วนหรือทั้งหมด) ตามมา

ภาวะแทรกซ้อน

เนื่องจากมีการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลางและใหญ่หลายส่วนในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา หลอดเลือดแดงอาจเกิดความผิดปกติ (ตีบตันหรือโป่งพอง) อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

ที่พบได้บ่อยคือ อาการตาบอด เนื่องจากหลอดเลือดตาอักเสบ และตีบ ทำให้ประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยไม่มีอาการปวดตา ส่วนใหญ่เกิดที่ตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนน้อยอาจเกิดพร้อมกันทั้งสองข้าง ทำให้ตาข้างนั้นบอดอย่างถาวร (มีรายงานการศึกษาว่า พบได้ประมาณร้อยละ 20-50 ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา)

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ อาทิ

    การอักเสบของหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ทำให้เกิด ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หรือ ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ มีอันตรายถึงเสียชีวิตได้
    การอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย
    การอักเสบของหลอดเลือดสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ เกิด โรคอัมพาตครึ่งซีก ความจำเสื่อม หรือเกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน
    การอักเสบของหลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral artery disease) ได้แก่ หลอดเลือดแดงแขนตีบ หลอดเลือดแดงขาตีบ
    หลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน

การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และตรวจร่างกายพบสิ่งผิดปกติ ที่สำคัญคือ ตรวจพบหลอดเลือดแดงที่บริเวณขมับข้างที่ปวด มีลักษณะเป็นเส้นปูด แข็งเป็นลำ ใช้มือกดจะรู้สึกเจ็บ และชีพจรเต้นเบาลงหรือคลำไม่ได้

อาจพบว่า การใช้มือลูบหนังศีรษะจะทำให้รู้สึกปวด หรือใช้มือกดหลอดเลือดแดงที่คอจะมีอาการเจ็บ หรือใช้เครื่องฟังตรวจที่หลอดเลือดแดงที่คอจะได้ยินเสียงฟู่ (bruit)

อาจตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ไข้ น้ำหนักลด ชีพจรที่ข้อมือ (radial pulse) หรือหลังเท้า (dorsalis pedis) เต้นเบาลงหรือคลำไม่ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ การตรวจตาด้วยเครื่องมือต่าง ๆ อาจพบมีความผิดปกติของหลอดเลือดในลูกตา จอตา และขั้วประสาทตา

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) คือการตัดชิ้นเนื้อของหลอดเลือดนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ (พบเซลล์ที่อักเสบเป็นเซลล์ตัวใหญ่หรือ giant cell ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคว่า "Giant cell arteritis" นั่นเอง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน (ทำให้ตาบอดได้ฉับพลัน) หากแพทย์ตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นพบว่าอาการเข้าได้กับโรคนี้ ก็อาจทำการรักษาก่อนที่จะทำการตรวจหรือรอผลยืนยันของชิ้นเนื้อ

การตรวจเลือดจะพบค่าอีเอสอาร์ (ESR/erythrocyte sedimentation rate) หรือ CRP (C-reactive protein) ขึ้นสูงกว่าปกติ ซึ่งบ่งบอกว่ามีการอักเสบของหลอดเลือด

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษา เช่น การถ่ายภาพการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (doppler ultrasound), การถ่ายภาพหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับการฉีดสี (MRA/magnetic resonance angiography), การตรวจหลอดเลือดด้วยเพตสแกน (PET scan)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาทันทีที่วินิจฉัยโรคนี้ ในรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีปัญหาไม่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล

การรักษา แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ขนาดสูงในระยะแรก เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือดทันทีโดยไม่ต้องรอผลการตรวจชิ้นเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการทางตา (เช่น ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน) ร่วมด้วย เนื่องจากหากให้การรักษาล่าช้า อาจทำให้เกิดภาวะตาบอดอย่างถาวรได้

เมื่ออาการดีขึ้นหลังให้ยาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แพทย์ก็จะค่อย ๆ ปรับลดขนาดยาลง จนเหลือขนาดต่ำสุด ก็จะให้ยาในขนาดนั้นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 1-2 ปี (บางรายอาจนานถึง 5  ปี) เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค

บางรายแพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น methotrexate (ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบด้วยการออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน หรือ immunosuppressant), tocilizumab (ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบด้วยการออกฤทธิ์ต้าน interleukin-6 หรือ interleukin-6 receptor antagonist) ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิผลในการรักษา และลดขนาดของยาสเตียรอยด์ที่ใช้ซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์

แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาแอสไพรินขนาดต่ำ (วันละ 75-150 มก.) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในตา หัวใจ และสมอง, ให้กินวิตามินดีและแคลเซียม เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนจากการใช้ยาสเตียรอยด์นาน ๆ

แพทย์จะนัดผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาเป็นระยะ เพื่อติดตามดูอาการและภาวะแทรกซ้อนของโรค และตรวจดูภาวะที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ (เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ต้อกระจก โรคกระดูกพรุน เป็นต้น)

ผลการรักษา ส่วนใหญ่หลังให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์แล้ว อาการจะทุเลาเป็นปกติได้ภายในเวลาไม่นาน และสามารถลดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (ได้แก่ ตาบอด โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง) ลงได้

ส่วนในรายที่มาพบแพทย์ช้า คือมีอาการตาบอดเกิดขึ้นแล้ว การรักษาก็ไม่ช่วยให้อาการตาบอดนั้นดีขึ้น

ในรายที่กินยาสเตียรอยด์จนครบและแพทย์ให้หยุดยา บางรายอาจมีอาการกำเริบใหม่ในเวลาต่อมาได้ ดังนั้นเมื่อหยุดยาแล้ว ควรเฝ้าสังเกตอาการและไปพบแพทย์ตามนัด หากโรคกำเริบ แพทย์ก็จะให้ยารักษารอบใหม่

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์นาน ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ (ทำให้เกิดโรคติดเชื้อง่ายและรุนแรง) ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ต้อกระจก โรคกระดูกพรุน (เกิดกระดูกหักตามมา) เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเฝ้าติดตาม และทำการป้องกันและรักษาผลข้างเคียงดังกล่าว

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดศีรษะที่บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว หรือสองข้างอย่างรุนแรง คลำได้เส้นปูดเป็นลำแข็งตรงขมับข้างที่ปวด และกดถูกเจ็บ, หรือมีอาการปวดขมับ ร่วมกับอาการปวดหนังศีรษะ (เวลาหวีผม สวมหมวก สวมแว่นตา หรือนอนหนุนหมอน) หรือปวดเมื่อยกราม (เวลาเคี้ยวอาหาร หรือพูดนานๆ), หรือมีอาการปวดขมับร่วมกับมีไข้ หรืออาการตาพร่ามัวหรือเห็นภาพซ้อน, หรือมีอาการปวดขมับรุนแรงเป็นครั้งแรก และปวดมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในคนอายุมากกว่า 50 ปี ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์

- กินอาหารสุขภาพ เน้นผักผลไม้ ธัญพืช ปลา ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองให้มาก ลดอาหารหวาน (น้ำตาล) -มัน (ไขมัน เนื้อติดมัน หนังสัตว์ กะทิ) -เค็ม ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน
- กินวิตามินดีและแคลเซียมตามที่แพทย์แนะนำ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีการตามืดมัว เจ็บหน้าอก หรือแขนขาชาหรืออ่อนแรง
    มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืด เป็นลม ซีด ใจสั่น หรือเบื่ออาหาร
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มีอาการปวดที่ขมับ (ข้างเดียวหรือสองข้าง) คล้ายโรคไมเกรน ไมเกรนมักมีอาการปวดตุบ ๆ ที่ขมับ เป็น ๆ หาย ๆ ตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว มักมีเหตุกำเริบ (เช่น แสง เสียง กลิ่น อากาศร้อน หิว อดนอน เครียด เป็นต้น) แต่ละครั้งจะเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง และมักจะทุเลาได้เร็วหากได้นอนพัก หรือกินยาแก้ปวดทันทีที่เริ่มมีอาการ

แต่ถ้าพบว่ามีอาการปวดที่ขมับเกิดขึ้นอย่างฉับพลันต่อเนื่อง และรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (หรือปวดต่างจากอาการปวดไมเกรนในรายที่เคยเป็นไมเกรนมาก่อน) ปวดจนนอนสะดุ้งตื่นหรือนอนไม่หลับ และมีเส้นปูดที่ขมับข้างที่ปวด เป็นลำแข็ง กดเจ็บ และชีพจรเต้นเบา (ต่างจากไมเกรนที่อาจมีเส้นปูดที่ขมับข้างที่ปวด แต่เป็นเส้นนุ่ม กดถูกไม่เจ็บ และมีชีพจรเต้นตุบ ๆ) หรือมีอาการปวดหนังศีรษะ ปวดเมื่อยกราม หรือมีอาการตาเห็นภาพซ้อน หรือตาพร่ามัวร่วมกับปวดศีรษะ (ต่างจากไมเกรนที่อาจพบอาการตาเห็นภาพผิดปกติก่อนมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นเพียงชั่วคราวและจะทุเลาลงไปเมื่อมีอาการปวดศีรษะ) ก็ให้สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดขมับอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นอาการที่พบครั้งแรกในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

2. โรคนี้ถึงแม้พบได้น้อย แต่มีความร้ายแรง ทำให้ตาบอดได้อย่างฉับพลันและถาวร และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงอื่น ๆ หากมีอาการสงสัย ควรไปพบแพทย์ทันที และดูแลรักษากับแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง