ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โควิดระลอกใหม่ อยู่อย่างไร...ให้รอด  (อ่าน 18 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 189
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โควิดระลอกใหม่ อยู่อย่างไร...ให้รอด

เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ดูจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยอดติดเชื้อสะสมในแต่ละวันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับรอบก่อนๆ และด้วยโรคโควิด-19 นั้น ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย ติดได้กับทุกคน นอกจากการใช้ชีวิตแบบ New Normal แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘วัคซีน’ คือความหวังก้อนใหญ่ของประชาชนคนไทยอยู่ในขณะนี้

เราต้องอยู่กับ โควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน

หากดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โรคโควิด-19 น่าจะอยู่กับเราไปอีกประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ หากประชากรทั้งโลกสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 70% ของประชากรทั้งหมด ก็จะกระตุ้นให้เกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) อย่างน้อยภูมิต้านทานของเราน่าจะต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้บ้าง และถ้าหากประชากร 70% เหล่านั้นได้รับวัคซีนอย่างทันท่วงทีกับไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ ก็หวังได้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะสงบลงได้

หากคำนวนจากจำนวนประชากรทั้งโลกที่มีมากกว่า 7,000 ล้านคน ขณะนี้ความเร็วในการฉีดวัคซีนทั่วโลกนั้นมีเพียงแค่วันละ 15 ล้านโดส ซึ่งเทียบเท่ากับฉีดได้วันละ 7 ล้านคนเท่านั้น หากต้องการฉีดให้ครบ 7,000 ล้านคน ก็ต้องใช้เวลาถึง 1,000 วันเลยทีเดียว (ประมาณ 3 ปี) เพราะฉะนั้น ถ้าหากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เร็วขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเร็วในการฉีดให้เร็วกว่านี้ นั่นคือ การฉีดจำนวนโดสให้มากขึ้นในแต่ละวันเพื่อย่นระยะเวลาการฉีดให้น้อยลง
เราอยู่ส่วนไหนของการระบาด

เมื่อมีข่าวว่าคนใกล้ชิดมีการติดเชื้อโควิด-19 นั้น หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงมากแค่ไหน ทั้งนี้ สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้

    วง 1: สมมติว่ามีคนหนึ่งเป็นผู้ป่วย (นาย ก) และมีคนเข้าไปใกล้หรือสัมผัสนาย ก ก็จะเรียกคนๆ นั้นว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (นาย ข) คือ เคยอยู่ใกล้กันในพื้นที่แคบๆ รัศมีประมาณ 1 เมตร พูดคุยกันต่อเนื่องนาน 15 นาที โดยที่ใส่หรือไม่ใส่แมสก์ก็ตาม ทั้งนี้ แนะนำให้ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (นาย ข) กักตัว 14 วัน ไม่ใกล้ชิดกับใคร ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 หลังสัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ตรวจก่อนถึงวันที่ 5 หลังจากสัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก เพราะตรวจแล้วอาจพบผลลบลวงเนื่องจากเชื้อยังอยู่ในระยะฟักตัว จึงตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น หากพบผลลบลวงนี้อาจคิดได้ว่าตัวเองไม่มีเชื้อโควิด-19 และออกไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ทั้งที่ตัวเองมีเชื้ออยู่ จึงอาจเป็นการแพร่กระจายเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้

    วง 2: ผู้ที่มาสัมผัสใกล้ชิดคนที่อยู่ในวง 1 อีกที โดยไม่ได้สัมผัสกับคนที่มีเชื้อ (นาย ก) โดยตรง เรียกว่าเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (นาย ค) โดยอาจจะแค่เดินผ่าน พูดคุยไม่ถึง 1 นาทีโดยมีการสวมหน้ากากแต่ไม่ได้สัมผัสกัน อยู่ห่างกัน 1-2 เมตร หรือเป็นเพื่อนร่วมงานกับคนในวง 1 เท่านั้น แนะนำให้ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (นาย ค) สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือพื้นที่เสี่ยง และสังเกตอาการ 14 วัน แต่ไม่ต้องกักตัว

    วง 3: ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงจากผู้ป่วยรายนี้  อาจเป็นคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน อยู่ในคอนโดเดียวกัน  เบื้องต้นแนะนำให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันตัวเอง แต่ไม่ต้องกักตัว

กักตัวที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย

ปัญหาจำนวนเตียงไม่พอ ถือว่าเป็นปัญหาหลัก ณ ขณะนี้ (26 เมษายน 2564) เพราะว่ามีคนที่ตรวจแล้วเจอผลเป็นบวกจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีจำนวนเตียงจำกัด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ หากตรวจแล้วได้ผลเป็นบวก ยังประสานหาสถานที่กักตัวไม่ได้ เช่น ไม่มีเตียง เตียงเต็ม หรือสถานที่กักตัวทางเลือกอื่นไม่ว่าง สามารถดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านไปก่อน รับประทานยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ (หากมีอาการ) ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องดื่มน้ำเยอะๆ อย่างน้อยประมาณ 3 ลิตรต่อวัน อาจจะใส่น้ำผึ้งมะนาวได้ รับประทานวิตามินซีเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันก็สามารถทำได้ และรับประทานอาหารผัก ผลไม้ อาหารที่มีประโยชน์ ร่วมกับการสังเกตอาการของตัวเอง

นอกจากนั้นแล้ว ต้องมีการแยกพื้นที่ในบ้านอย่างชัดเจน อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร ไม่ใช้ของใช้จำพวกจาน ช้อน ส้อม แก้วน้ำร่วมกัน แต่หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกันกับคนในบ้าน สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ความสะอาดของจุดสัมผัส ซึ่งจุดสัมผัสที่พบเชื้อได้เยอะ เช่น ลูกบิดประตู ซิงค์น้ำ ก๊อกน้ำ หรือฝักบัวนั้น หากใช้เสร็จแล้ว ให้เอาแผ่นแอลกอฮอล์ ทิชชู่เปียกที่พ่นแอลกอฮอล์ หรือผ้าชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดทำความสะอาด และแยกเวลาการใช้ห้องน้ำกับผู้อื่นในบ้าน รวมถึงหากทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว ก่อนกดชักโครกให้ปิดฝาชักโครกก่อนแล้วค่อยกด เนื่องจากมีรายงานว่าหากมีเชื้อโควิด-19 ปะปนออกมากับปัสสาวะ เชื้ออาจมีการฟุ้งกระจายได้หากเรากดชักโครกโดยไม่ปิดฝาชักโครก
อาการของเชื้อระลอกนี้เป็นอย่างไร และอาการแบบไหนควรรีบปรึกษาแพทย์

อาการแสดงเริ่มแรกจากการติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกนี้คือ มีไข้สูง ถ้าไม่มีไข้ในวันแรก ก็อาจจะมีไข้ในวันที่ 4 หรือ 5 และปวดเมื่อยตามร่างกาย จากนั้นบางคนก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น ปวดเนื้อปวดตัว ปวดไปถึงกระดูก ไอเยอะขึ้น เจ็บคอ หายใจติดขัด หรือหายใจแล้วรู้สึกแน่นหน้าอก อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่าอาการเริ่มหนัก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

ทั้งนี้ ในทางกลับกัน หากตรวจแล้วมีผลเป็นบวกและไม่มีอาการแสดงหรือมีแต่น้อยมาก เช่น อาการเหมือนเป็นหวัดธรรมดา ไม่มีไข้ ปัจจุบันก็มีทางเลือกอื่นในการกักตัว โดยมีลักษณะเป็น Hospitel ซึ่งหลักการของ Hospitel  คือ จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลประจำที่ Hospitel เพื่อเช็คอุณหภูมิหรือประเมินอาการเบื้องต้นในแต่ละวัน หากพบความผิดปกติจะส่งผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลทันที

ระหว่างไข้หวัดธรรมดา กับ โรคโควิด-19 ต่างกันอย่างไร

อาการไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูกใส ไข้ต่ำๆ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส มีอาการไอนิดหน่อย เจ็บคอบ้าง จะเป็นเค่ 3-5 วันก็หาย และมักไม่มีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว

ส่วนอาการของโรคโควิด-19 อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือ มีไข้สูง 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป ปวดเมื่อยเนื้อตัวเยอะเหมือนไข้หวัดใหญ่ บางคนปวดถึงกระดูก เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ ในระลอก 3 มีอาการที่เพิ่มขึ้นมา คือ ตาแดง มีผื่นแดงเป็นปื้นๆ คล้ายผื่นลมพิษ (พบประมาณ 10%) บริเวณแขน ขา ลำตัว บางคนมีตุ่มน้ำใสคล้ายๆ อีกสุกอีใส

วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ณ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564) ยังไม่มียาต้านไวรัสที่เฉพาะกับเชื้อโดยตรง แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้ก็รับประทานยาลดไข้ หากมีอาการไอก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น

แต่หากมีอาการมากขึ้น เช่น เอกซเรย์ปอดแล้วเริ่มเห็นความผิดปกติ มีไข้สูง ร่วมกับการมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคไต โรคตับ หรือโรคทางหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งคนที่ตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ต้องรีบติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา แพทย์จะให้การรักษาทางยาซึ่งมีทั้งยาฉีดและยารับประทาน ทั้งหมดนี้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

อาการข้างเคียงหรือ อาการแพ้หลังจากฉีดวัคซีน

เนื่องจากตัวโรคและวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ยังมีข้อมูลให้อ่านและศึกษาได้น้อย จึงเป็นธรรมดาที่จะเกิดความกลัวและไม่มั่นใจในการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ แพทย์แนะนำว่า หากมีโอกาสฉีดวัคซีนก็สามารถฉีดได้ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร เพราะอย่างไรก็ตามการได้รับวัคซีนก็ยังดีกว่าการไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากหากได้รับวัคซีนแล้ว อย่างน้อยก็สามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้มากกว่า 50% อีกทั้งวัคซีนแต่ละตัวก็มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยมาก หลังการฉีดคนไข้อาจรู้สึกปวดเมื่อยในตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งจะเป็นประมาณ 1 – 2 วันเท่านั้น และอย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า เราต้องทำการฉีดให้ได้ 70% ของประชากรทั้งโลก ถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และจะสามารถป้องกันตัวโรคได้ ดังนั้น หากเราเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เราก็สามารถที่จะป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในขณะนี้ (23 เมษายน 2564) ยังไม่พบหลักฐานพิสูจน์ว่ามีการเสียชีวิตจากการแพ้วัคซีน แต่อย่างไรก็ตามก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่มีน้อยมากๆ เพียงแค่ 1 ในล้านโดสเท่านั้น

การฉีดวัคซีนกับการติดเชื้อซ้ำ

เพราะฉะนั้นจึงยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ แต่การที่เราฉีดวัคซีน จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ และลดความรุนแรงของโรคเมื่อเราติดเชื้อซ้ำได้ ส่งผลให้เมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำอาการอาจไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย

เนื่องจากหากมีการฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ และสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันจำนวนมาก สถานที่แออัด ผู้คนพลุกพล่าน หรือการเที่ยวผับ/บาร์ต่างๆ เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท มีการตะโกนคุยกัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อได้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ควรเว้นระยะห่างกันนานแค่ไหน

ควรเว้นระยะห่างประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ฉีดพร้อมกัน เพราะหากเกิดอาการข้างเคียง จะไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากวัคซีนตัวไหน

สุดท้ายแล้ว เราควรสังเกตตัวเองว่าเคยมีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และคอยตรวจเช็คอาการของตัวเองอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นแดงเป็นปื้นๆ ขึ้น ไม่ต้องตกใจ เพราะการมีผื่นขึ้นหรือมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคโควิด-19 เพราะโรคโควิด-19 นั้นจะมีอาการแสดงหลายอย่างร่วมกัน เช่น มีผื่นขึ้นร่วมกับการมีไข้สูงและมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวด้วย และทำการสังเกตอาการตัวเองคู่ขนานไปกับการดูประวัติด้วยว่าเคยมีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยงมาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและเหตุผลด้านอื่นๆ หากจะให้เกิดการล็อคดาวน์ทุกครั้งที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ก็คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น การกลับมาใช้ชีวิตประจำวันแบบ New Normal เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และสำคัญที่สุดคือการได้รับวัคซีนเสริมสร้างเกราะป้องกันเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายและเพื่อให้การระบาดของโรคหมดไปในท้ายที่สุด